วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

เพื่ออุดมการณ์


วันนี้  จะนำเสนอชิ้นงานในรูปของนิยาย

สะท้อนสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่วง พ.ศ.  ๒๕๐๓ – ๒๕๑๐

เรื่อง


เพื่ออุดมการณ์

รังสรรค์  โดย  รุจิเรข  อภิรมย์
*****************
  ทุกข์ของคนใต้


          ปัง...  ปัง...  ปัง...
          เสียงปืนกังวานกึกก้อง
          ศัลยายืนสีหน้าเผือด  ซีด  สองมือปิดหูทั้งสองข้าง  ตาหลับสนิท
          หลังจากที่พยายามเรียกขวัญและกำลังใจกลับคืนมาได้  เธอค่อย ๆ เปิดเปลือกตา  ลดสองมือลงมากุมเข้าหากันแน่น  สองตาจ้องเป็นเชิงถามไปยังชายหนุ่มซึ่งยืนเกาะราวลูกกรงโรงเรียนอยู่เบื้องหน้า  ห่างจากเธอไม่ถึงครึ่งเมตร
          สายตาทั้งสองคู่ประสานกัน
          ศัลยาพบว่า  มีความกร้าวแกร่งทรหดแฝงอยู่ในดวงตาคู่ที่กำลังจ้องสบตาเธออยู่
          เขาจุดยิ้มเครียด ๆ ขึ้นที่มุมปากก่อนจะหลุดคำถามสั้น ๆ
          "ศพที่เท่าไหร่แล้ว  ศัลยา ?"
          "หก ... สำหรับตำบลนี้  และในช่วงที่ศัลย์เข้ามารับงานที่นี่"  ยังไม่ละสายตาที่ประสานอยู่กับเขา  "แต่คุณแน่ใจหรือคะ  ชาคริต  ว่าเสียงปืนที่ดังเมื่อกี๊จะไม่พลาดเป้าหมาย"
          "แน่นอนที่สุด"  เขาเน้นเสียงหนักแน่น  "ด้วยวิธีลอบกัด  และมือที่เคยชินกับการประหัตประหาร  คนพวกนี้ทำงานโดยไม่เคยผิดพลาด"
          "เขาฆ่ากันเพื่ออะไรคะ ?"
          "ไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริง"  สีหน้าของชาคริตเครียดยิ่งขึ้นเมื่อตอบคำถามของเธอ  "ได้แต่สันนิษฐาน  บ้างก็ว่าสร้างสถานการณ์  ล้างแค้นส่วนตัว  เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของใครบางคน  เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่มิให้มีเวลาไปสกัดกั้นการขนย้ายยาเสพติด  สินค้าหลีกเลี่ยงภาษี  พ่อค้าน้ำมันเถื่อน...  ก็สุดแท้แต่จะคิด"
          "อ้าว ...  ก็ไหนว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน"
          "นั่นเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อสร้างมวลชนเท่านั้น"  เขาจ้องตาเธออีกครั้งก่อนจะบอกว่า  "ชาวบ้านที่นี่หลายคนมีคดีอุกฉกรรจ์  ฆ่าคนตาย  มีชนักติดหลัง"
          "ตำรวจไม่ระแคะระคายบ้างหรือคะ ?"
          "พอจะรู้บ้าง  แต่กว่าจะเข้ามาในหมู่บ้านได้  ก็ต้องถูกเก็บตามรายทางมามากต่อมาก  ผู้ก่อการร้ายเขาวางระบบป้องกันตัวเองไว้อย่างดี"
          ความเงียบกระจายตัวอยู่ชั่วขณะ  ก่อนที่เธอจะได้ยินเสียงชาคริตกระเส่าเรียก
          "ศัลยา ..."
          "ขา ..."  ขานรับเบา ๆ
          "รู้อย่างนี้แล้ว  ศัลย์ยังคิดจะเป็นพัฒนากรอยู่ที่นี่อีกหรือ ?"
          เธอเบิกตากว้าง  แต่มีแววสดใส  มุ่งมั่น  ฉายให้เห็น
          "เป็นหน้าที่ ...  และเพื่ออุดมการณ์ค่ะ"
          ชาคริตสะดุ้ง  เจ็บแปลบที่หัวใจ  เหมือนถูกปลายเข็มเสียบแทง
          เพื่ออุดมการณ์ ... !  อา ... มิใช่เป็นเพราะคำนี้ดอกหรือ  ที่ทำให้เขาต้องเอาชีวิตมาจมปลักอยู่ที่นี่  จนบัดนี้ ... ชีวิตของเขามีแต่ความแห้งแล้ง  เปล่าเปลี่ยวเหลือที่จะกล่าวอยู่แล้ว ...
          มือทั้งสองของชาคริตบีบเข้าหากันแน่น  สายตากวาดมองไปรอบ ๆ บริเวณที่เขากับศัลยายืนอยู่  รู้สึกร้าวรานใจ  หากยกเอาร่างของศัลยาออกไป  ณ ที่แห่งนี้จะไม่มีภาพใดผิดแผกไปจากความจำเจประจำวันแม้แต่น้อย  ภายใต้ครอบหลังคามุงจากของโรงเรือนหลังเล็ก ๆ ขนาด ๖ x ๘ เมตรหลังนี้  มีแต่ความแออัดของอุปกรณ์การสอน – การเรียนและตัวเด็กจำนวน ๘๐ คน
          สภาพของอาคารดีกว่าคอกควายก็เพียงความสะอาดสะอ้าน  มีที่นั่งเรียนหนังสือ  มีกระดานหน้าชั้นและอุปกรณ์การเรียนการสอนอื่น ๆ ที่พอจะหามาได้เท่านั้น
          เขาเอาชีวิตทั้งชีวิตมาจมอยู่ที่นี่ทำไม ?

  สัญญาใจเชื่อไม่ได้


        ใบยางพาราสีน้ำตาลแก่ ๔ – ๕ ใบ  ถูกลมกระชากปลิดจากขั้ว  ร่วงระลงไปที่ใบหน้า  แขนเสื้อของเขา  แล้วหล่นราบลงที่พื้นดิน  เสียงกิ่งยางผุ ๆ หักยวบหลุดจากต้น  ได้ยินชัดเจน
        ชาคริตมองสิ่งเหล่านี้อย่างเงียบงัน  จิตอดประหวัดไปหาอดีตเมื่อสี่ปีที่แล้วมิได้
        ภายในรั้วของสถาบันผลิตครู
          ขณะที่เพื่อน ๆ กำลังเฮฮาสนุกสนานอยู่กับการร่วมกิจกรรมก่อนปิดภาคเรียนสุดท้าย  ภายใต้ร่มเงาของจามจุรีที่ริมสระน้ำ  ระหว่างอาคาร ๑ กับ อาคาร ๒  ชาคริตและเนาวนิตย์หลบจากสายตาของเพื่อนฝูงมานั่งสนทนากันเงียบ ๆ บนเนินหญ้าสีเขียวชอุ่มริมสระบัว  ใบจามจุรีสีน้ำตาลแก่ปลิดจากขั้วผละก้านลิ่วตามลมลงมากระทบไหล่ของชาคริตแล้วร่วงลงพื้นหญ้า
          เนาวนิตย์ชำเลืองมองสิ่งที่เกิดขึ้นนิดหนึ่งก่อนจะวิงวอนเขาด้วยเสียงที่สั่นเครือ
          "นะคะ  อยู่กับนิตย์ที่กรุงเทพต่อไปนะคะ"
          "แต่ ... อุดมการณ์ของเรา  เนาวนิตย์คุณลืมแล้วหรือ ?"
          ประกายตาของชาคริตฉายแสงแห่งความผิดหวัง  ปวดร้าว
          หญิงสาวอ่านความรู้สึกจากดวงตาของเขาได้  อารมณ์  เริ่มเปลี่ยนแปลง
          "กลับไปสอนเด็กในชนบทน่ะหรือ ?"  เสียงเธอเริ่มเครือ  กระด้าง  "มันจะคุ้มกันหรือคะกับเวลาที่เราเสียไปในการมุ่งมั่นจนได้ปริญญา  ความรู้ที่เราขวนขวายหามามันจะถูกกลืนหายไปในป่าดงซึ่งมีแต่ความเปล่าเปลี่ยว  คุณไปฝังตัวอยู่ที่นั่นได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?"
          "แล้วอุดมการณ์ของเรา ..."  เสียงที่ย้ำนั้นปร่า  ร้าวราน
          "ยังมั่นคงอยู่  ก็เรากำลังจะเป็นแม่พิมพ์อยู่แล้วนี่คะ"
          "แต่อุดมการณ์ของเราคือพัฒนาเด็กในชนบทที่เขายังด้อยโอกาส  มิใช่ในตัวเมือง  มิใช่ในกรุงเทพ"  สายตามองหญิงสาวเหมือนจะสะกด  ชักจูง  "เด็กชนบทยังต้องการครูที่มีความรู้ความสามารถ  คุณวุฒิสูงเท่าไรยิ่งดี"
          เนาวนิตย์เม้มริมฝีปากแน่นก่อนจะเปิดปากชี้แจงเหตุผล
          "กรุงเทพก็มีเด็กชนบท  เด็กด้อยโอกาส  หากคุณช่วยพัฒนาพวกเขาก็จะมีผลอย่างเดียวกัน  แต่มากกว่านั้น  กรุงเทพมีแหล่งความรู้มากมาย  หลังเลิกเรียนคุณมีโอกาสพัฒนาตนเอง   มีโอกาสศึกษาในระดับปริญญาโท   ปริญญาเอกง่ายขึ้น  หลังจากนั้นค่อยกลับไปอยู่ในชนบท  ไม่ดีกว่าหรือคะ ?"
          "ผมตัดสินใจแล้ว"  เขาบอกหนักแน่น  "ไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้"

 
  อยากลืมกลับจำ


          เสียงปืนขาดหายไปนานแล้ว  เด็ก ๆ หายจากตะลึง  เริ่มเคลื่อนไหว  บางคนลงมือคัดลอกข้อความบนกระดานหน้าชั้นลงในสมุดงานของตนเอง  บางคนเก็บดินสอไม้บรรทัดลงกระเป๋า  แล้วหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอย่างรู้หน้าที่  ส่วนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้น ป.๑ – ป.๒ เริ่มซุกซน  ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว

          ชาคริตมองภาพเหล่านั้นด้วยความภาคภูมิใจ  แม้ในส่วนลึกของความรู้สึกจะแห้งโหย  ปวดร้าว

          จากวันงานอำลาสถาบันมาจนถึงวันนี้  สี่ปีแล้ว  ยังไม่มีวี่แววว่าเนาวนิตย์จะคิดกลับมาอยู่ยะลา  มาสอนเด็กในชนบทตามที่เคยฝันกันเอาไว้
          พลันเขานึกถึงกลอนชิ้นหนึ่ง  ชื่อ  เถอะ...โฉมฉายกลับมาบ้านป่าเรา ซึ่งเขาส่งไปตีพิมพ์ในหน้านิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งเมื่อต้นปีที่แล้ว
          ชาคริตจำกลอนบทนั้นได้ขึ้นใจ

เถอะ...โฉมฉายกลับมาบ้านป่าเรา

*****************************
เคยเห็นเธอล้มลุกคลุกขี้ฝุ่น
เคยวิ่งวุ่นลุยโคลนจนโดนเฆี่ยน
เคยเห็นนั่งหลังควายรั้งท้ายเกวียน
เคยนั่งเรียนร่วมชั้นด้วยกันมา

จำได้ไหมใต้ประดู่ริมคูนั้น
เธอเคยปันขนมหวานให้ทานหมา
 เคยกินข้าวเคล้าปลาย่างข้างคูนา
ไยเธอมาลืมสิ้นไม่ยินดี

                 ๐  อย่าลืมซี... มิ่งมิตรคิดก่อนเถิด  
 ที่เธอเลิศเลอนักในศักดิ์ศรี
     เพราะโคลนคราบสาปวัวบอกชั่วดี
   หรือเพราะสีแสงวิจิตรพิสดาร

  คงจำได้โรงเรียนเก่าที่เรานั่ง       
     หลังคาพัง-ฝาไม้ไผ่  ใครช่วยสาน
                   โต๊ะไม้ลังฉำฉานั่งมานาน                      
     จนเราผ่านชั้นประถมผมยังจำ

                                         ๐  เมื่อเธอไปอยู่ในเมืองจนเรืองโรจน์
                                                  แล้วลืมโขดเขาป่าช่างน่าขำ
                                                  กลัวลมแดดแผดเผาเป็นเงาดำ
                                                  มิหนำซ้ำเกลียดป่าน่าไม่อาย

                         
                                           กลับมาเถิดขวัญชีวาอย่าเพิกถอน       
                  มาช่วยสอนศิษย์ดงคงบุญหลาย
   อย่าให้โง่เง่าเป็นเช่นวัวควาย
     ถอะโฉมฉายกลับมาบ้านป่าเรา*

     ………………………………..

        [*กลอนบทนี้เขียนประกอบเรื่อง  โดย  ชาตรี  สำราญ]


          เขาถอนหายใจ  เหนื่อยหน่าย  แม้กลอนบทนั้นจะมีผลต่อการกระตุ้นให้เนาวนิตย์ไหวตัว  แต่สิ่งตอบแทนที่เขาได้รับ  คือ  จดหมายฉบับหนึ่ง  ลงทะเบียนมาถึงเขา

          "ชาคริต  คะ
                   อ่านบทกลอนของคุณในนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับนั้นแล้ว  เห็นใจ  แต่จะทำอย่างไรได้  ทุกอย่างมันสายเกินไปแล้ว   นิตย์ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ทำการสอนที่ ม.ราชภัฏ  ชาคริตคงจะช่วยดีใจ  ถ้ารู้ว่านิตย์กำลังจะได้ไปศึกษายังต่างประเทศ  ทำปริญญาเอก  เดินทางเมื่อไร  นิตย์จะจดหมายมาบอกนะคะ"

          ชาคริตกำจดหมายฉบับนั้นแน่น  ภาพการเลี้ยงอำลาก่อนปิดภาคเรียนปีการศึกษาสุดท้ายวันนั้นปรากฏขึ้นมาในมโนสำนึกอีกครั้ง
          "ชาคริตกลับไปก่อนน้าาา...  นิตย์ขอเวลาเรียนต่อ  พอจบโท  นิตย์จะกลับไปช่วยงานของคุณ"
          เป็นตำพูดที่เนาวนิตย์เปล่งออกมาก่อนที่แสงลำสุดท้ายของวันจะลับหายไปทางทิศตะวันตก
         ชายหนุ่มน้ำตาซึม  นี่หรือสัญญา ... ! 
          อย่างร้าวรานใจ  เขาใช้ปลายปากกาละเลงหมึกลงไปบนแผ่นกระดาษอีกครั้ง  เป็นบทกลอนที่ส่งไปยังนิตยสารฉบับเดิม  ชื่อ ...


โคลน ครุย
*****************

                                 ๐  น้ำเนตรนองสองแก้มแกมสะอื้น
                                 แต่ยังฝืนยืนมุ่งทุ่งแถวเถิน
                                 เฝ้าจดจดจ้องจ้องมองแล้วเมิน
                                 เมื่อเผชิญภาพช้ำทำจิตวาย

                                 ยามตาจ้องมองเขม้นเห็นลิบลิ่ว
                                 เป็นแถวทิวสุดจะคณาหมาย

                                                     เพิงหนึ่งหลังตั้งเด่นเช่นคอกควาย
                                 ปลูกเยื้องซ้ายปลายนาฝาผุพัง

                                ๐  เพิงหลังนั้นใช้งานด้านศึกษา                                 
                                ตื่นเช้ามาหนูน้อยคอยความหวัง
                                แกอยากก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้ง                               
                                แต่ฝันพังพินาศเพราะขาดครู

                                ๐  ทั้งที่รัฐจัดผลิตเป็นนิจศีล
                                พวกปริญญามากหลากล้วนหรู

                                                     ครั้นสำเร็จออกมาสิน่าดู
                                ต่างคนอู้อยู่เมืองเรืองวิไล

                                ๐  บ้านป่าดงคงเหงาเปล่าเปลี่ยวจิต
                                                     มีเพียงศิษย์ก็ครูเล่าอยู่ไหน
                                                     อุดมการณ์อ่านซ้ำจำขึ้นใจ
                                                     แต่ฉันไม่เคยเห็นครุยลงลุยโคลน

                               ******************************

                         *กลอนชิ้นนี้สร้างสรรค์  โดย  ชาตรี  สำราญ


๔  ผู้ร่วมอุดมการณ์




          "ชาคริต ..."
          "................"  ไม่มีเสียงตอบ
          "ชาคริต  คะ"  ศัลยาเรียกซ้ำอักครั้ง
           ชาคริตสะดุ้ง  ยิ้มเก้อเขิน
          "ทำไมเงียบไปคะ ?"  พร้อมรอยยิ้ม  เธอทายใจ  "หรือตกอยู่ในภวังค์  ขอโทษนะคะ ...  คิดถึงใครหรือ ?"
          "เปล่าครับ  เอ้อ ..."  ตะกุกตะกักเล็กน้อย
          ศัลยายิ้มปลอบใจ
          "พูดเถอะค่ะ  ศัลย์กำลังรับฟัง"

          "เปล่า ...  ไม่มีอะไร  คือ  ผมกำลังคิดว่า  ศัลย์จะมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร  ในเมื่อมันเหมือนถูกทอดทิ้ง  เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย  ท่ามกลางสวนยางพารา  ความโหดร้ายของมนุษย์และสัตว์ป่า"
          "โดยความหมาย  พัฒนากร  คือ  ผู้ทำความเจริญ  ชาคริตทราบดีใช่มั้ยคะ"  เธอตั้งคำถาม  เว้นระยะนิดหนึ่ง  ชาคริตยังคงนิ่งเฉย  เมื่อไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ  ศัลยาจึงพูดต่อ  "แต่จะพัฒนาที่ไหน  คงไม่หมายถึงในตัวเมือง  ที่นั่นมีคนทำหน้าที่เต็มภาคภูมิอยู่แล้ว  ในเขตชนบทอย่างที่นี่ซีคะ  จะมีใครซักกี่คนที่สมัครมาอุทิศความสุขส่วนตัวสร้างความเจริญในป่าดงอย่างนี้  ในจำนวนคนกลุ่มน้อยที่พอมีอยู่บ้างนั้น  ศัลย์นี่แหละค่ะ  ที่เต็มใจจะมาตกระกำลำบากเช่นเดียวกับชาคริต"
          ทุกคำที่กล่าว  ทำให้ประกายตาของชาคริตที่จ้องมองดูเธอ  วามวาวด้วยแสงแห่งศรัทธา  ทว่า  เป็นเพียงชั่ววูบ  แล้วมันก็สลด  เฉยชา  ยิ้มหยัน ๆ ปรากฏที่ใบหน้าของเขา  ดวงใจชาคริตรู้สึกปวดแปลบ  เมื่อจำได้ว่า  คำพูดคล้าย ๆ กันนี้  ครั้งหนึ่ง  เนาวนิตย์เคยพูดกับเขา  และทำให้เขาต้องปวดร้าวมาจนถึงปัจจุบันนี้
          ผู้หญิงอย่างศัลยาคงไม่ได้แตกต่างไปจากเนาวนิตย์สักเท่าใด  เมื่อต้องการหรือตั้งใจจะทำอะไร  ย่อมแน่วแน่ในระยะต้น ๆ  ต่อจากนั้น  เมื่อพบอุปสรรคหรือทนความยาวนานของกาลเวลาที่จะปรากฏผลสำเร็จของงานไม่ไหว  ก็มักเลิกราไปเอง ... ไปเหมือนกับที่เนาวนิตย์เคยจากเขาไปแล้ว  ไปอย่างที่เขาไม่อยากมีความหวังอีกต่อไปว่าเนาวนิตย์จะมีวันกลับมาหาเขาอีก
          เหมือนจะหยั่งรู้เข้าไปในความรู้สึกของชาคริต  ศัลยาจ้องหน้าเขา
          "ชาคริตคงไม่มั่นใจว่าศัลย์จะทำได้อย่างที่ศัลย์พูด"  หยุดไปนิดหนึ่ง สังเกตสีหน้าของชายหนุ่ม  แล้วแทงใจดำเขา  "ผู้หญิงมีความตั้งใจไม่มั่นคง  คุณกำลังคิดเช่นนี้ใช่ไหมคะ ?"
          ชาคริตเลิกคิ้ว  มองเหมือนเหยียดดังเดิม 
          "อะไรที่ทำให้ศัลย์พูดว่าผมคิดเช่นนั้น"
          "ความหลังของคุณ ..."  ศัลยาประสานสายตากับเขาอย่างท้าทาย  "ก่อนมาประจำที่นี่  ศัลย์มีโอกาสทราบอดีตของคุณพอสมควร  น่าเห็นใจค่ะ ..."
          ยังไม่ทันพูดจบ  ชาคริตยืดตัวตรง  กำมือแน่น  แต่พอสติสัมปชัญญะกลับมาทันก็ค่อย ๆ คลาย  ปล่อยทุกอย่างสู่ภาวะปกติ  ถามเนิบ ๆ
          "มีความจำเป็นอะไรนักหรือ  ที่ต้องก้าวล่วงไปถึงขนาดนั้น ?"
          ศัลยาไม่ตอบ  แต่ท่องบทกลอนที่เขาเคยเขียนไว้  ช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ
          "อุดมการณ์อ่านซ้ำจำขึ้นใจ  แต่ฉันไม่เคยเห็นครุยลงลุยโคลน"  เสียงในวรรคท้ายเน้นหนักแน่น  พร้อมตั้งคำถาม  "ใช่ไหมคะ ?"
          "อย่าพูดถึงสิ่งนั้นอีกเลย ..."  เขาวิงวอน
          "ศัลย์เข้าใจคุณทุกอย่าง  และชาคริตก็ควรเข้าในในตัวคุณเนาวนิตย์บ้าง  มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวเป็นอันดับแรก  เห็นแก่คนอื่นเป็นลำดับรองลงไป  ปริญญาโทกับชนบทที่มีแต่ความน่าหวาดกลัวของสัตว์ร้ายและเสียงปืน  การลอบทำร้ายกัน  อย่างที่นี่  เป็นสิ่งที่คู่ควรกันหรือคะ  อย่าพูดถึงความก้าวหน้าของตนเองเลย  แม้แต่เด็ก ๆ เหล่านั้น ..."  เธอกราดนิ้วชี้เข้าไปในห้องเรียน  "จะมีซักกี่คน  ที่เรียนจบประถมศึกษาแล้วจะได้เข้าไปศึกษาต่อระดับมัธยมในตัวเมือง  เราได้อะไรบ้าง  นอกจากความเหนื่อยยากลำบากกายและลำบากใจ  และการต้องเอาความสดใสของชีวิตในอนาคตที่อาจก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้  มาจมอยู่ที่นี่ ..."
          "แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันเสียเลยล่ะ"  ชาคริตกัดกรามจนนูน  ประกายตาแข็งกร้าว  ก่อนจะปล่อยคำถามออกมา  "เด็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างไร  สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราจะเป็นอย่างไร ?"
         อย่างเยือกเย็นและมั่นคงในอุดมการณ์  ศัลยาตอบโต้เขาทันทีทันใด
          "ถูกแล้วค่ะ  การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้คนที่นี่ดีขึ้นได้  แต่การศึกษาพื้นฐานที่อยู่กับครูเพียงไม่กี่ปี  แล้วออกไปมีชีวิตจำเจอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมในหมู่บ้าน  ยาวนานตลอดชีวิต บางคนแต่ละวันไม่เคยได้ใช้ภาษาไทยเลย  จนสิ่งที่เราฝึก เราสอนไว้ เลือนหายไปหมด  ชาคริตคิดว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยยากที่คุณทุ่มเทลงไปหรือคะ ?"
          "คุ้มค่าแล้วหรือคะ ?"  ศัลยาเน้นสำทับอีกครั้ง
          "กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จในวันเดียว"  ชาคริตพูดเหมือนกับที่เคยได้ยินมาจากหลายคน  ดวงตาเขาแข็งกร้าว  มีอารมณ์  "ผู้ใหญ่กว่าจะเดินได้คล่องแคล่วต้องผ่านการตั้งไข่มาแล้วไม่รู้จะสักกี่ครั้ง  เมืองหลวงอย่างกรุงเทพก็เคยเป็นชนบทอย่างนี้มาก่อน  ทำไมที่เราจะมาช่วยกันสร้างให้ชนบทที่นี่เจริญขึ้นมาบ้างไม่ได้"
          ศัลยายิ้มระรื่น 
          "ก็ศัลย์นี่ไงคะ  ที่จะมาช่วยชาคริตพัฒนาชนบทแห่งนี้ให้เป็นเหมือนกรุงเทพ ฯ"
          "ศัลย์ ..."  เสียงชาคริตแผ่ว  เขาเบิกตากว้าง
          ศัลยาช้อนสายตาขึ้นสบตาเขาอีกครั้ง  กล่าวหนักแน่น
          "มั่นใจเถิดค่ะ  แม้ว่าการพัฒนาชนบทแห่งนี้จะไม่สำเร็จในช่วงชีวิตของเรา  แต่ต่อไปมันก็จะกลายเป็นแหล่งเจริญอีกแห่งหนึ่ง  ในช่วงชีวิตของคนรุ่นหลัง..."
          รอยยิ้มที่แสดงถึงความสุขระบายไปทั่วใบหน้าของชาคริต
          "แผ่นดินเมืองไทยจะสูงกว่านี้  ถ้าหากมีคนหลาย ๆ คนคิดแล้วทำ  เหมือนศัลย์ "
          "ศัลย์จะร่วมคิดร่วมทำกับชาคริตที่นี่  จะช่วยคุณพัฒนาชนบทแห่งนี้ให้ศิวิไลยยิ่งกว่าเดิม"
          น้ำเสียงขอเธอหนักแน่น  เด็ดเดี่ยว  บ่งบอกความมั่นคงทุกถ้อยกระทงความ ชาคริตจ้องมองเธออย่างศรัทธา  บูชา  ยกย่องอย่างแท้จริง


ฝากไว้ด้วย ... อุดมการณ์ของเรา



          ฝนที่กระหน่ำลงมาตั้งแต่ตอนกลางวัน  ไม่มีทีท่าว่าจะสร่างซาแม้แต่น้อย  ตรงข้าม  กลับมีพายุโหมอย่างต่อเนื่อง  ฟ้าคะนองเป็นระยะ  ระยะ  หนักยิ่งขึ้น  ไม้ไล่หักโค่นระเนนระนาด  มองไปทางไหนมีแต่สายฝนและน้ำที่เจิ่งนองถนน  ท่วมพื้นธรณีทั่วไป  ผืนป่าในหมู่บ้านดูมืดมนเหมือนถูกปิดตาย  ไม่รู้หนเหนือหนใต้
          ชาคริตรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งให้อยู่ในโลกนี้แต่เพียงผู้เดียว  รอบกายมีแต่โต๊ะเรียน  ม้านั่ง  กระดานหน้าชั้น  และกองสมุดงานของเด็ก  ที่วางลดหลั่นอยู่บนโต๊ะทำงานของเขา  3 – 4 กอง
          เด็ก ๆ วิ่งฝ่าสายฝนกลับไปบ้านหมดแล้วตั้งแต่เริ่มเลิกเรียน  ปล่อยให้ชาคริตนั่งตรวจงานอยู่คนเดียว  ฆ่าเวลาคอยศัลยาซึ่งบอกเขาว่าจะเข้าไปทำธุระในหมู่บ้าน  เพื่อนัดแนะกรรมการชุมชนมาประชุมปรึกษาหารือเรื่องการวางแผนระบายน้ำ  และการทำเกษตรพอเพียง
          แต่จนบัดนี้  ศัลยายังไม่กลับออกมา  เธอคงรอให้ฝนซามากกว่านี้  เขาพยายามคิดในแง่ดี
          กองสมุดงานเด็ก ๆ ไม่ต่ำกว่า 80 ชิ้น  จะช่วยผ่อนคลายความเบื่อหน่ายจากการรอคอยได้เป็นอย่างดี  เขาเลือกกองที่สูงที่สุดมาตรวจก่อน  เป็นงานของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1  รองลงมาก็เป็นของชั้นประถมปีที่ 2 – 3 – 4 ตามลำดับ
          โรงเรียนนี้มีนักเรียน
80 คน  มีครูทำการสอนเพียงคนเดียว  คือ  ชาคริต
          ไม่ต้องสงสัย  เขารับหน้าที่ทั้งครูใหญ่  ครูประจำชั้น  นักการ  ภารโรง  และสารวัตรศึกษา(เกณฑ์เด็กเข้าเรียน)พร้อมกันไปด้วย
          ชาคริตไม่กล้าโกหกตนเองว่าทำสิ่งเหล่านี้มาด้วยความยากลำบากเพียงใด  แต่ผลที่ได้รับก็ทำให้ภาคภูมิใจ
          จากคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย  ซุกซน  ไม่มีวินัย
          บัดนี้  อาทิตย์ที่แล้วนี่เอง  เขาภูมิใจอย่างบอกไม่ถูก  เมื่อลูกศิษย์ตัวเล็ก ๆ ของเขายืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  โค้งคำนับ  และตอบคำถามของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ฉะฉาน  ในโอกาสที่ท่านเข้ามาตรวจราชการในหมู่บ้าน
          "สวัสดีครับ ... ผมเป็นคนไทยครับ"
          เป็นเสียงที่บริสุทธิ์  ชัดถ้อยชัดคำ  เกือบไม่แปร่งเลย
          จนชาคริตอดไม่ได้ที่จะฝันไกล  อีกสิบปีข้างหน้า  ประชาชนในหมู่บ้านนี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง  พูดภาษาไทยได้ชัดเจน  และใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน
          ชาคริตคงคะนึงเพลินอยู่กับผลงานอีกนาน  ถ้าไม่มีเสียงปืนกัมปนาทเหมือนฟ้าผ่าดังขึ้นในระยะไม่ไกลนัก  เขาสะดุ้งสุดตัว  พยายามรวบรวมสติสัมปชัญญะ  แล้วยืดตัวเต็มร่าง  สอดส่ายสายตาไปทางที่บังเกิดเสียง  แต่ยังไม่มีอะไรผิดสังเกต

          ฝนซาจนเกือบขาดเม็ดเมื่อไรเขาไม่รู้  อากาศรอบตัวขมุกขมัวเต็มที  นาฬิกาที่ข้อมือบอกเวลา 17.45 น.
          จนป่านนี้  ศัลยายังไม่กลับออกมาจากหมู่บ้าน ...!
          ชาคริตเริ่มกระสับกระส่าย  ความห่วงใยในตัวศัลยาแล่นปราดไปทั่วอนูของหัวใจ  ลมหายใจของเขาเริ่มถี่ ... แรง,  ในที่สุด  ไม่สามารถอดรนทนต่อการรอคอยได้  เขารีบเก็บงานทุกชิ้นเข้าที่  และรีบเดินทางเข้าไปในหมู่บ้าน  ลุกลี้ลุกลน 

          ระหว่างทางนั่งเอง  เขาตะลึง ... ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบ  กรูเข้ามาหาเขา  ส่งข่าวละล่ำละลัก
          "ปลัดศัลยา ... ครู ... ปลัดศัลยา ..."
          เสียงของพวกเขากระท่อนกระแท่น  เหน็ดเหนื่อย  และตกใจสุดขีด
          "ทำไม ?"  เขาถามเหมือนตะโกน  "มีอะไรเกิดขึ้น ...?"
          "ปลัดถูกยิง ...!"  หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านรีบบอก
          "ถูกยิง ...!"  ทวนคำพร้อมถามซ้ำ  เร่งร้อน  "ที่ไหน ... ?"
          โดยไม่รอคำตอบ  เขารีบออกวิ่งนำหน้าชาวบ้านไปทางที่ชาวบ้านวิ่งกรูกันออกมาเมื่อครู่  หลายคนพยายามวิ่งแซงหน้าเขา
          "ทางนี้ ... ครู"  ต่างช่วยกันบอก  ให้เขาวิ่งตาม
          เมื่อถึงที่เกิดเหตุการณ์ ... โดยไม่รอช้า  ชาคริตถลาเข้าไปหาร่างของศัลยาที่นอนเหยียดยาวอยู่ข้างป่าละเมาะริมทาง  เลือดแดงฉานไหลริน  ปนเปื้อนไปกับน้ำฝนที่แผ่กระจายเจิ่งนองอยู่ทั่วผืนป่า
          ชาคริตคุกเข่าลงข้าง ๆ ร่างของเธอ  ช้อนศีรษะศัลยาเข้ามาไว้ในวงแขน  เอาใบหน้ามาแนบไว้กับอกของเขา
          "ศัลย์ ... ใครทำร้ายคุณ ...?"  สำลักเสียงออกมาเหมือนจะขาดใจ
          "โจร ...มา...หะ...มะ ..."  ศัลยาพยายามบอก  "มัน ...ฉุด...ศัลย์...  ศัลย์...หนี...มัน...ยิง...."
          น้ำเสียงค่อยแผ่วหายไปทีละน้อย  เบาจนคนที่อยู่ใกล้ ๆ แทบไม่ได้ยิน  มือเริ่มไขว่คว้า  ริมฝีปากเผยอระริก
          ชาคริตเอาหูแนบประชิดริมฝีปากของเธอ
          เสียงที่หลุดลอดออกมา  แม้จะกระท่อนกระแท่น  แต่ก้องอยู่ในหูของเขา

          "ชา...คริต...เพื่อ...อุ...อุ...ดม...การณ์...อยู่...ที่...นี่...ต่อ...ต่อ...ไป...ทำ...ทำ...ให้...ศิ...วิ...ไลซ์..กว่า..กว่า..นี้..." 

     สิ้นคำสุดท้าย ลมหายใจเธอสะดุด ศัลยาเอนกายสะดุ้งเฮือก ลำตัวกระตุกไปทางด้านหลัง  ก่อนลำคอจะอ่อนพับ ซบใบหน้านิ่งอยู่กับอกของชาคริต

     วงแขนชาคริต กอดกระชับเธอไว้แนบแน่น  ใบหน้าค่อย ๆ โน้มต่ำลงไปคลอเคลียกับปอยผมของเธอ โยกกายเบาๆเหมือนปลอบประโลม แต่เบ้าตาสองข้างล้นเอ่อไปด้วยหยาดน้ำใสที่มิใช่หยดฝน  หัวใจของเขาอึงอลไปด้วยถ้อยคำที่หวังจะให้ดวงวิญญาณของศัลยารับรู้ 

     "ศัลยา ...  เพื่ออุดมการณ์ของเรา  ผมจะอยู่ที่นี่ต่อไป  จนกว่าชนบทแห่งนี้จะดีขึ้น" 





**************************************






5 ความคิดเห็น:

  1. เนี๊ยบมากเลยค่ะอารุจ "เพื่ออุดมการณ์" เพอร์เฟคมากค่ะ ถือเป็นแบบอย่างของการเขียนที่ควรศึกษาอย่างยิ่งค่ะ

    ตอบลบ
  2. รุจิเรข อภิรมย์
    นิยายเรื่องนี้ สำเร็จลงได้ด้วยการอนุเคราะห์ของบุคคลต่อไปนี้ คือ :-
    1 คุณชาตรี สำราญ ช่วยเขียนกลอนประกอบเรื่อง
    2 คุณปิยนันท์ ลัน กรุณาให้ความคิดเห็นที่มีค่ายิ่ง >Piyanant Lun
    เพื่ออุดมการณ์
    ศัลยา และ ชาคริต ปลัดฝ่ายพัฒนาชุมชน และ ครู
    ชาคริต และ เนาวนิตย์ ครู และ ครู
    อ.เขียนดีจนไม่มีที่จะคอมเมนต์ ถ้าเป็นการให้คะแนนก็ แบ่งได้ ดังนี้ค่ะ
    ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะคะ
    คะแนนเต็ม ๑๐๐
    อ.ได้ ดังนี้
    ๑. เนื้อหา ๑๐๐
    ๒. ความสละสลวย กลมกลืน ๑๐๐
    ๓. เร้าอารมณ์ ๑๐๐
    คำผิดมีอยู่ ๕ คำ
    ที่กลอน คือ สาปวัว ควรเป็น สาบวัว
    ตำพูด ....เป็นคำพูดที่เนาวนิตย์เปล่งออกมา
    ปฏิกิริยา...เป็นปฏิกริยา
    น้ำเสียงขอเธอ...น้ำเสียงของเธอ
    ขอบคุณอ.ที่ให้เกียรติ ซึ่งถือเป็นความนับถือที่มีให้กันด้วยดี คงส่งลงนิตยสารใช่ไหมคะ
    January 30
    8:20pm
    รุจิเรข อภิรมย์
    ส่งลงเฟสครับ

    ตอบลบ
  3. 3 คุณพลอย ตะวัน กรุณาแก้ไขการใช้คำ และร่วมเขียนในบทสุดท้าย>รุจิเรข อภิรมย์
    พลอย ...
    พี่ขอบคุณที่กรุณาเสียเวลามาช่วยปรับปรุงนิยายของพี่ ชอบมากที่พลอยแก้ไข โดยเฉพาะตอนใกล้เอ็นดิ้ง พี่ต้องขอบคุณอย่างมาก ให้ความรู้สึกดีเหลือเกิน > พร้อมกับคำสุดท้าย ลมหายใจเธอสะดุด ศัลยาเอนกายสะดุ้งเฮือก ลำตัวกระตุกไปทางด้านหลังก่อนจะ คออ่อนพับ ซบใบหน้านิ่งอยู่กับอกของเขา ชาคริต กอดกระชับเธอไว้แน่นด้วยวงแขนใบหน้าโน้มต่ำลงไปคลอเคลียกับปรอยผมเธอ โยกกายเบาๆ เหมือนคนปลอบประโลม แต่เบ้าตาสองข้างล้นเอ่อไปด้วยหยดน้ำใสที่มิใช่หยาดฝน
    8:28pm
    พลอย ตะวัน
    ตรงนี้เรียกน้ำตาคนอ่านได้เลยนะคะ พลอยอ่านทวนยังร้องไห้เลย
    ชอบมากๆค่ะ
    พลอยต้องขอบพระคุณพี่รุทมากกว่า ที่ส่งมาให้ได้อ่านผลงานชิ้นโบว์แดง
    8:34pm
    รุจิเรข อภิรมย์
    พี่ต้องการคนจริงใจมาให้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงงาน
    ไม่ต้องการประเภท ดี ชอบ สนุก ฯ
    เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของคนอ่าน
    ขั้นกลั่นกรองนี่สำคัญมาก งานจะดี/ไม่ดี อยู่ที่ตรงนี้แหละครับ
    8:35pm
    พลอย ตะวัน
    ค่ะ พี่เขียนได้สุดยอดจริงๆ นะคะ
    ชอบมากๆๆพลอย
    8:38pm
    รุจิเรข อภิรมย์
    ขอบคุณที่มอบกำลังใจมาให้
    โอกาสหน้า หากมีอะไรสะเทือนใจ
    อาจเขียนมาให้อ่านอีก ขอบคุณอีกครั้งนะครับ
    คืนนี้ หลับ ฝันดีนะครับ

    ตอบลบ
  4. 4 คุณกิ่งกานท์ ลมรำเพย ที่กรุณาอ่านเรื่องนี้ถึง 3 รอบ และให้กำลังใจ>กิ่งกานท์ ลมรำเพย
    อืม....อ่าน ๓ รอบแล้ว อ่านครั้งแรกก็เห็นภาพเลยคะ ไม่อยากจะชมนะ แต่ก็เขียนดีคะพี่ ตะวันไม่ค่อยเก่งเรื่องสั้นด้วยสิ
    ขอโทษนะคะพี่รุจ ให้รอตั้งนาน
    · ตอบกลับ · 8 ปี
    รุจิเรข อภิรมย์
    ...ต้องขอบพระคุณอย่างล้นเหลือสำหรับน้ำใจของทุก ๆ ท่านที่กรุณาอุทิศเวลามากลั่นกรองและร่วมรังสรรค์งานชิ้นนี้กระทั่งสำเร็จออกมาอย่างดีงาม ใครยังมิได้อ่าน ลองย้อนกลับขึ้นไปอ่านดูนะครับ
    · ตอบกลับ · 8 ปี · แก้ไขแล้ว
    เทพ วุฒิพงษ์
    ขอบคุณค่ะ อจ.ส่งไปลงที่ไหนแล้วยัง หรือรวมเล่มเองคะ
    · ตอบกลับ · 8 ปี
    Linjong Suwanarat
    ขออนุญาตแบ่งปันนะคะคุณครู
    ตอบกลับ · 8 ปี
    รุจิเรข อภิรมย์
    ...สวัสดีครับคุณปิยนันท์ ยังไม่คิดจะรวมเล่มครับ ต้องดูสถานการณ์ก่อน ยังมีอีกหลายเรื่อง จะนำมาทะยอยลงเรื่อย ๆ ครับ
    · ตอบกลับ · 8 ปี
    รุจิเรข อภิรมย์
    ...สวัสดีครับ คุณลินจง ยินดีที่คุณชอบและสนใจจะนำไปแบ่งปัน เชิญตามสบายครับ ครูต้องการเขียนให้พวกเราอ่านกันเพลิน ๆ ครับ
    · ตอบกลับ · 8 ปี · แก้ไขแล้ว
    ศิรินุช สูงสุด
    "โดยความหมาย พัฒนากร คือ ผู้ทำความเจริญ ชาคริตทราบดีใช่ไม๊คะ" ชอบข้อความนี้มากค่ะ ในฐานะที่ตัวเองเป็นพัฒนากรและเคยทำงานอยู่ชายแดนรู้สึกดีใจที่ อ.รุจเรข เขียนถึงพัฒนากร ขอชื่นชมกับภาษาเขียนของอาจารย์ เป็นภาษาที่งดงามอ่านแล้วเพลิดเพลิน ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของพัฒนากรที่สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน ภารกิจของเรานอกจากจะเป็นผู้ทำความเจริญแล้ว ยังมีอีกภาระกิจหนึ่งที่สำคัญมากนั่นคือการสอนคนให้คิด วิเคราะห์ และตัดสินใจให้ได้ว่าควรจะกำหนดให้ชุมชนของตนเองเดินไปในทิศทางใด เช่นการสอนคนให้รู้จักวิธีหาปลาเพื่อการพึ่งตนเองอย่ายั่งยืน ไม่ใช่นำปลาไปให้เขากิน ......ดิฉันเป็นคนชอบอ่านที่ตามมาเจออาจารย์ต้องขอบคุณเฟสคุณ Piyanant Lun ค่ะ
    · ตอบกลับ · 7 ปี
    รุจิเรข อภิรมย์
    ...ขอบคุณคุณศิรินุช สูงสุดที่กรุณาให้สิ่งที่มีค่าเหลือล้นแก่ผมจะได้นำไปใช้ประโยชน์แน่นอน ผมศรัทธาในบทบาทของพัฒนากร จะสังเกตเห็นว่าตัวเอกของนิยายมิใช่ครูแต่เป็นพัฒนากรที่เปี่ยมไปด้วยความเสียสละ ทำงานอย่างมีอุดมการณ์ รอบคอบ ก่อนเข้ามารับหน้าที่ก็ศึกษาข้อมูลละเอียดยิบ รู้กระทั่งว่าใครบ้างที่มีบทบาทอยู่ในท้องถิ่นที่จะเข้าไปทำงาน แต่ละคนมีภูมิหลังอย่างไร เธอจะเข้าไปทำงานด้วยวิธีใด จะกล่อมเกลาคนเหล่านั้นให้มาร่วมมือกับเธอได้อย่างไร ฉลาดในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ถือช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก ประชุมกรรมการหมู่บ้านวางแผนระบายน้ำและเชื่อมโยงไปหาการทำเกษตรพอเพียง เธอมิได้เอาสิ่งที่เธออยากทำไปบอกให้ชาวบ้านทำ แต่เธอใช้วิธีการมาร่วมกันคิด ช่วยกันหาทางออก ช่วยกันทำ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้ชาวบ้านภูมิใจ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำ คือ สิ่งที่เขาคิดได้เอง ทำเอง
    ผมขอบคุณคุณศิรินุชอีกครั้งที่สนใจงานของผม และให้สิ่งที่มีค่ากับผม จะรังเกียจไหมครับ ถ้าเราจะมาเป็นเพื่อนกัน
    · ตอบกลับ · 7 ปี
    ศิรินุช สูงสุด
    ยินดีค่ะ ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่าน เป็นงานเขียนเชิงวิชาการแต่อ่านแล้วไม่เครียด..
    · ตอบกลับ · 7 ปี
    รุจิเรข อภิรมย์
    ...อ่านแล้วไม่กลัวหรือครับ ถ้าต้องลงมาประจำการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนคุณศัลยา
    · ตอบกลับ · 7 ปี
    รุจิเรข อภิรมย์
    ... ถ้าอยากอ่านเรื่องนี้ให้ต่อเนื่องอย่างได้อารมณ์ โปรดติดตามไปที่นี่ครับ
    myimagegarden.blogspot.com/2014/03/
    สวนฝันวรรณศิลป์(ร้อยแก้ว)
    MYIMAGEGARDEN.BLOGSPOT.COM
    สวนฝันวรรณศิลป์(ร้อยแก้ว)
    สวนฝันวรรณศิลป์(ร้อยแก้ว)
    · ตอบกลับ · ลบภาพตัวอย่างออก · 3 ปี
    Peegul Phinsaihem
    ชอบมากเลยค่ะ เนื้อเรื่อง ประทับใจตั้งแต่ต้นจนจบ และเพลงสุดท้าย" ลมหายใจปลายด้ามขวาน "เป็นเพลงที่กินใจมาก รู้สึกเห็นใจและสงสาร เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ต้องไปประจำการ อยู่ชายแดนใต้ มีชีวิตที่เสี่ยงอยู่กับความตาย ทุกๆอย่างก้าว ไม่ว่าครู ทหารตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรั้วของชาติ เพราะเคยสูญเสียพี่ชายให้กับราชการสงครามมาก่อนเมื่ออ่านแล้วซึ้งทั้งเรี่องและเพลงสุดท้าย อดร้องให้ไม่ได้ค่ะ
    · ตอบกลับ · 3 ปี

    ตอบลบ
  5. Krisanapong Swatde
    ยอดเยี่ยมมากครับอาจารย์, บอกตรง ๆ ต้องอ่านซ้ำเลย ชื่นชมในฝีมือครับ..เยี่ยม

    ตอบลบ